ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) มีอาการอย่างไร จะอันตรายไหม?

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) มีอาการอย่างไร จะอันตรายไหม?
สุขภาพและความงาม

มนุษย์เงินเดือนที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีอาการปวดเมื่อย หรือบางคนเมื่อเริ่มนั่งทำงานแรก ๆ ก็จัดท่าจัดทางได้อย่างถูกต้อง แต่พอนั่งหน้าจอไปซักพัก ลืมตัว เผลอนั่งหลังค่อม หรืออาจมีการจ้องหน้าจอนาน ๆ จึงทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้ แต่…อาการแบบไหนที่เรียกว่า ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) และจะมีวิธีป้องกันอย่างไร วันนี้เราจะมาคุยในเรื่องนี้กันค่ะ

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คืออะไร?

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คืออะไร?

คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด อันเป็นเหตุมาจากรูปแบบการนั่งทำงานที่มีการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิม ๆ แบบซ้ำ ๆ ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน พฤติกรรมดังกล่าวและที่พบกันบ่อย ได้แก่ การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกินไป โดยที่ไม่ได้มีการขยับ ไม่มีการลุกเดิน และไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ พฤติกรรมเหล่านี้หากยังไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเรื้อรังได้ บางรายอาจมีอาการชาทั้งที่แขนและมือ อันเกิดจากการที่เส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

อาการออฟฟิศซินโดรม

อาการออฟฟิศซินโดรม

อาการของออฟฟิศซินโดรม มีลักษณะดังนี้

ปวดกล้ามเนื้อ

อาการปวดกล้ามเนื้อนี้จะมีลักษณะที่ปวดเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ได้แก่ คอ บ่า ไหล่ สะบัก และมักมีอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง ระบุไม่ได้ว่าปวดตรงจุดไหน บอกจุดตำแหน่งที่แน่ชัดไม่ได้ บางรายอาจมีการปวดร้าวในบริเวณใกล้เคียงด้วย ลักษณะจะปวดล้า ๆ โดยที่ความรุนแรงในการปวดก็มีตั้งแต่ปวดน้อย ปวดรำคาญ ไปจนถึงปวดรุนแรงมาก

มีอาการทางระบบประสาท

เป็นอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติที่เป็นอาการร่วม ได้แก่ วูบ ซ่า เย็น เหน็บ ขนลุก ซีด หรือมีเหงื่อออกในตำแหน่งที่รู้สึกว่ามีอาการปวดร้าว ซึ่งถ้าปวดบริเวณคอก็อาจมีอาการมึนงง หูอื้อ และตาพร่ามัว

อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ

อาการที่เกิดได้แก่ มีอาการชาบริเวณแขนและมือ บางรายอาจมีอาการอ่อนแรง หากเส้นประสาทถูกกดทับนานเกินไป

การป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรม

การป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรม

การป้องกันการเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

การออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสม

ขณะที่นั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นั้น อย่าลืมที่จะยืดกล้ามเนื้อบ้านะคะ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายและมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้ยังควรที่จะออกกำลังกายเพื่อเป็นการเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ซึ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยวินัยในตัวเอง และต้องทำอย่างสม่ำเสมอ

จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ถูกต้อง

เริ่มจากการปรับระดับโต๊ะและเก้าอี้ให้พอดีพอเหมาะกับสรีระของเรา ให้ปรับในท่าที่เรารู้สึกว่านั่งได้สบายที่สุด พร้อมกับปรับจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตาและควรห่างจากที่เรานั่งในระยะประมาณ 12 – 18 นิ้ว ท่านั่งควรนั่งให้เต็มก้นและนั่งหลังตรง ชิดขอบด้านในของเก้าอี้ ตั้งคอตรง ไหล่ยืด สุดท้ายระดับข้อมือและข้อศอกควรเป็นระนาบเดียวกันกับคีย์บอร์ด

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้กล้ามเนื้อให้ถูกต้องและเหมาะสม

ในระหว่างที่เรานั่งทำงาน อย่าลืมที่จะเหยียดยืดร่างกายหรือเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 1 ชั่วโมง เพื่อเป็นการให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย

ผลกระทบหากไม่มีการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม

ผลกระทบหากไม่มีการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม

หากคุณเริ่มรู้ตัวแล้วว่าคุณเริ่มมีอาการของออฟฟิศซินโดรมแต่ยังไม่รีบแก้ไข หรือไปรับการรักษา อาจส่งผลให้เกิดอาการของโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อตามมาได้ อาทิ

  • กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (myofascial pain syndrome)
  • ความผิดปกติของความตึงตัวของเส้นประสาท (nerve tension)
  • เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome)
  • นิ้วล็อก (trigger finger)
  • ปวดหลังจากท่าทางที่ไม่เหมาะสมหรือผิดปกติ (postural back pain)
  • เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (tendinitis)
  • หลังยืดติดในท่าแอ่น (back dysfunction)

อาการออฟฟิศซินโดรมไม่ใช่อาการที่เกิดอย่างเฉียบพลัน แต่แท้จริงแล้วเป็นอาการที่เกิดสะสมมาระยะหนึ่งกับกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานอย่างไม่ถูกต้องและต่อเนื่อง ดังนั้น หากคุณเริ่มรู้ตัวว่าอาจมีอาการออฟฟิศซินโดรมแล้ว ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันเสียตั้งแต่วันนี้นะคะ

ข้อมูลอ้างอิง โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ , โรงพยาบาลสุขุมวิท , โรงพยาบาลสมิติเวช

Team FAV

ทางทีมงานแอดมินทำเวปไซต์ Fav a good time นี้ขึ้นมา เพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อของทางออนไลน์ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคหันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น ทางทีมงานของเราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคค่ะ ทำให้การตัดสินใจซื้อมีข้อมูลมากขึ้นคะ

Profile