คีโต (คีโตเจนิค) คืออะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
“คีโต” หรือ “คีโตเจนิค” เชื่อว่าหลายคนคงผ่านหูหรือคุ้นหูกันมาบ้างว่าคีโตคือหนึ่งในวิธีการลดน้ำหนัก แต่รู้หรือไม่ว่าถ้าเราหักโหมลดน้ำหนักด้วยวิถีคีโต โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด อาจส่งผลให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน และเกิดอาการวูบได้ เพราะฉะนั้นวันนั้นเรามีเรื่องราวของคีโต รวมถึงข้อดีข้อเสียของการกินคีโตมาฝากค่ะ
สารบัญ
คีโต (คีโตเจนิค) คืออะไร
คีโต หรือชื่อเต็มคือ คีโตเจนิค ไดเอต (Ketogenic Diet) คือ การกินอีกรูปแบบหนึ่งที่เน้นไขมันสูง รองลงมาคือ โปรตีน และลดคาร์โบไฮเดรตลงให้เหลือน้อยที่สุด (การลดน้ำหนักที่ถูกต้องไม่ควรตัดคาร์บทิ้งนะคะ) ทั้งนี้ก็เพื่อให้ร่างกายได้นำไขมันที่สะสมอยู่ออกมาใช้ เผาผลาญเป็นพลังงาน โดยสัดส่วนของอาหาร คือ ไขมันดี 70% โปรตีนทุกประเภท 25% และคาร์โบไฮเดรต 5% ของปริมาณแคลอรี่ที่บริโภคต่อวัน
เริ่มกินคีโตอย่างไรดี
สำหรับใครที่ต้องการจะเริ่มกินอาหารคีโตที่ถูกต้อง อันดับแรกคือ การลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้เหลือน้อยที่สุด และควรเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ดี เช่น ข้าวกล้อง เป็นต้น เน้นกินไขมันและน้ำมัน แต่…ต้องเป็นไขมันดีที่มาจากธรรมชาติทั้งไขมันพืชและไขมันจากสัตว์ โดยพยายามกินให้ควบคู่กันไป อาทิ เนื้อสัตว์ติดไขมัน หรือไขมันจากพืช ได้แก่ เนย ชีส น้ำมันหมู น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว รวมถึงอาหารจำพวกถั่ว เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้ที่กินคีโตยังสามารถกินไข่กินเนื้อสัตว์ได้ แต่ก็ควรควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เน้นกินผักจะดีที่สุด ซึ่งจะดีมากหากเป็นผักใบเขียว ผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากนมก็กินได้ค่ะควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่นมพร่องมันเนย (แต่ก็ควรเลี่ยงการดื่มนมนะคะ)
สำหรับคอกาแฟที่ชอบดื่มกาแฟใส่นม ยังสามารถสั่งดื่มได้ค่ะ เพียงแต่ต้องใส่ครีมแท้เท่านั้น ซึ่งบางร้านอาจใช้ครีมเทียมแบบนี้ควรเลี่ยง ส่วนใครที่มองหาของระหว่างมื้อสามารถกินอาหารจำพวกถั่วหรือธัญพืชได้ อาทิ อัลมอนด์ หรือแมคคาเดเมีย ที่ทั้งเคี้ยวเพลิน อร่อย และดีต่อสุขภาพค่ะ
กินคีโต อาหารที่ควรเลี่ยง
อาหารคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูง
จริงอยู่ค่ะ การลดน้ำหนักที่ถูกต้องไม่ควรงดคาร์บหรือตัดคาร์บทิ้ง แต่ก็ควรเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูงเช่นกัน อาทิ ข้าวขาวขัดสี ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ ข้าวโพด และข้าวโอ๊ต เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์จากข้าว
ได้แก่ พาสต้า พิซซ่า คุกกี้ ขนมปัง และเค้ก เป็นต้น
อาหารแปรรูป
ได้แก่ ไส้กรอก หมูยอ แฮม เบคอน รวมถึงลูกชิ้น เพราะส่วนใหญ่มักจะมีสารสังเคราะห์และแป้งที่ใช้เป็นส่วนผสมในกระบวนการผลิต
ไขมันทรานส์
การกินตีโตคือการเน้นกินไขมันซึ่งควรเป็นไขมันจากธรรมชาติทั้งจากพืชและจากสัตว์ ซึ่งไขมันทรานส์เป็นไขมันอิ่มตัวที่จะไปเพิ่มระดับคอเลสเตรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในร่างกาย หากสะสมในร่างกายในปริมาณมาก ๆ นอกจากจะไม่สามารถลดน้ำหนักได้แล้ว ยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เป็นต้น
ผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง
“กินผลไม้สิดี” ดีค่ะ แต่ต้องไม่ใช่ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วงสุก น้ำแตงโม น้ำสับปะรด รวมไปถึงผลไม้อบแห้ง ผลไม้ดอง และผลไม้แช่อิ่ม เพราะจะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลที่สูงมาก หรือถ้าอดใจไม่ไหวจริงก็ควรกินแต่น้อยพอหอมปากหอมคอนะคะ
ข้อดีของการกินคีโต
น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อเราใช้วิธีการลดน้ำหนักแบบคีโตไปสักระยะ แล้วกลับมาชั่งน้ำหนัก เราจะมีกำลังใจขึ้นเยอะ เราจะพบว่าน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเรามีการควบคุมการกินคาร์โบไฮเดรตที่เข้มงวดกว่าแต่ก่อนนั่นเอง
ไขมันที่สะสมไว้ถูกเผาผลาญ
เมื่อเรารับคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่น้อยมาก ๆ เข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจึงต้องดึงเอาไขมันที่สะสมไว้ในร่างกายออกมาเผาผลาญเพื่อใช้เป็นพลังงานแทนคาร์บ จึงส่งผลให้ร่างกายยิ่งผอมเร็วมากขึ้น
ข้อเสียของการกินคีโต
ร่างกายจะขาดสารอาหารที่จะเป็นบางชนิด
เนื่องจากวิถีคีโตต้องควบคุมการกินอาหารบางชนิด และผลไม้บางอย่าง รวมถึงผักบางชนิด จึงส่งผลให้ร่างกายขาดวิตามินและสารอาหารจำเป็นบางอย่างที่มีอยู่ในผักและผลไม้
ระบบการทำงานในร่างกายบางส่วนทำงานผิดปกติ
ด้วยเหตุที่ชาวคีโตต้องลดคาร์โบไฮเดรตและไฟเบอร์บางชนิด จึงส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่ายทำงานผิดปกติ เกิดอาการท้องผูกนั่นเอง
ปริมาณการกิน
เนื่องจากพลังงานที่ร่างกายได้รับหลัก ๆ จากการกินคีโตคือ การเน้นกินไขมัน ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบปริมาณในการกินกับอาหารอื่น ๆ แล้ว อาจทำให้เรากินไขมันได้ไม่เยอะ ซึ่งผลที่เราได้คือ หิว ซึ่งความหิวถ้ามีมาก ๆ ก็อาจทำให้เราตบะแตก กินเยอะกว่าปกติได้
ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง
เพราะเราลดคาร์บลง คาร์บคือ แหล่งพลังงานหลักที่เราต้องใช้เมื่อออกกำลังกาย ดังนั้น เมื่อเราลดคาร์บลงก็เท่ากับพลังงานในการออกกำลังกายลดลงนั่นเอง ส่งผลให้เราสูญเสียกล้ามเนื้อมากขึ้น
การรักษาสุขภาพเป็นเรื่องดี การกินคีโตก็เป็นเรื่องดี แต่จะดีที่สุดหากกินแต่พอดีไม่หักโหม โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ควรปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป พิจารณาร่างกายของเราเป็นหลักนะคะรับได้แค่ไหน เพื่อป้องกันการวูบที่อาจเกิดขึ้นค่ะ