แนะนำทุเรียนครบพันธุ์
ผลไม้สีเขียวมีหนามเต็มลูก ส่วนบนเป็นก้าน พอแกะเนื้อในออกมา สีเหลืองน่ารับประทานพร้อมกลิ่นหอมๆ เราเรียกว่า “ทุเรียน” เป็นผลไม้ที่หาพบได้ง่ายช่วงหน้าร้อนเดือนเมษายนของไทย แต่ในปัจจุบันพบว่า ทุเรียนนั้นมีแทบจะทั้งปีที่เราสามารถหาซื้อมารับประทานกันได้ ทุเรียนที่เราได้ยินกันมาเนิ่นนานและนิยมรับประทานกันมากได้แก่ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว แต่ทุเรียนในบ้านเรานั้นมีหลากหลายสายพันธุ์มาก ความแตกต่างก็จะมีแค่ รสชาติ กลิ่น สี เมล็ดเล็ก เมล็ดใหญ่ เท่านั้น แต่ละสายพันธุ์มีเอกลักษณะเฉพาะตัวต่างกันไป เรามาดูกันค่ะว่าทุเรียนมีสายพันธุ์อะไรบ้าง
สารบัญ
ทุเรียนหมอนทอง
ต้นกำเนิดของพันธุ์หมอนทอง เกิดที่จังหวัดนนทบุรี ผลจะมีลักษณะใหญ่ ผลค่อนข้างยาว ลักษณะหนามจะสูงแหลมตรง ลักษณะโดยรวมของพูมักจะไม่ค่อยเต็มทุกพู ส่วนใหญ่จะมีเขี้ยวงูแซมอยู่ระหว่างหนามใหญ่และหนามเล็ก ก้านขั้วใหญ่และแข็งแรง รสชาติจะหวานมัน เมล็ดน้อย
จุดเด่นของทุเรียนหมอนทอง
- ก้านขั้วใหญ่ แข็งแรง
- เมล็ดน้อยและลีบเป็นส่วนใหญ่
- ผลจะมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับทุเรียนพันธุ์อื่น
- เนื้อทุเรียนค่อนข้างหน้า ไม่แฉะติดมือ
สเปคสินค้าของทุเรียนหมอนทอง
ต้นกำเนิด | จังหวัด นนทบุรี |
---|---|
พันธุ์ | หมอนทอง |
เอกลักษณ์ | ผลมีขนาดใหญ่ ก้านขั้วใหญ่แข็งแรง หนามแหลมตรงสูง |
ลักษณะเนื้อ | เนื้อหนาไม่แฉะติดมือ สีเหลืองอ่อน รสชาติหวานมัน |
ลักษณะเมล็ด | เมล็ดน้อย ลีบเป็ส่วนใหญ่ |
น้ำหนัก | 3-4 กิโลกรัมต่อผล |
ทุเรียนก้านยาว
ต้นกำเนิดของพันธุ์ก้านยาว เกิดที่จังหวัดนนทบุรี ถือว่าเป็นพันธุ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของจังหวัดนนทบุรี เป็นพันธุ์หนัก มีลักษณะฐานใบแหลม ผลมีทรงกลม ขนาดกลาง ก้านขั้วยาว หนามมีลักษณะสั้น ถี่ แหลมตรง ผลของพันธุ์นี้จะมี 6 พูหนาเสมอกัน ผลด้านในจะมีสีเหลือง เนื้อหนาปานกลาง นิ่มรสชาติหวานมัน เมล็ดใหญ่และกลม
จุดเด่นของทุเรียนก้านยาว
- ก้านขั้วจะยาวกว่าพันธุ์อื่น
- เมล็ดกลมใหญ่
- ผลจะมีขนาดเป็นทรงกลมและทรงบาตร
- เนื้อทุเรียนรสชาติหวานมัน
- หารับประทานยาก และ ราคาสูง
สเปคสินค้าของทุเรียนก้านยาว
ต้นกำเนิด | จังหวัด นนทบุรี |
---|---|
พันธุ์ | ก้านยาว |
เอกลักษณ์ | ผลมีขนาดกลม ก้านขั้วยาว หนามสั้นแหลม |
ลักษณะเนื้อ | เนื้อนิ่ม สีเหลืองทอง |
ลักษณะเมล็ด | เมล็ดกลม |
น้ำหนัก | 2-3 กิโลกรัมต่อผล |
ทุเรียนชะนี
ต้นกำเนิดของพันธุ์ชะนีไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าต้นกำเนิดจริงๆนั้นมาจากจังหวัดไหน แต่ที่นิยมปลูกกันทั่วไปได้แก่จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดนนทบุรี ทุเรียนพันธุ์ชะนีจะมีกลิ่นค่อนข้างแรงเป็นเอกลักษณ์ เนื้อจะสีเหลืองเข้ม ค่อนข้างไปทางนิ่ม รสชาติหวานแหลม ส่วนมากนิยมนำไปแปรรูปเป็นขนมหวาน
จุดเด่นของทุเรียนชะนี
- ก้านมีขนาดปานกลาง
- เมล็ดขนาดเล็ก และ ลีบ
- ผลจะมีขนาดค่อนข้างยาว พูไม่สม่ำเสมอ
- เนื้อค่อนข้างหยาบเป็นเส้น รสไม่หวานแหลม
สเปคสินค้าของทุเรียนชะนี
ต้นกำเนิด | ไม่ทราบแน่ชัดแต่นิยมปลูกในจังหวัดจันทรบุรี ระยอง นนทบุรี |
---|---|
พันธุ์ | ชะนี |
เอกลักษณ์ | ผลมีขนาดค่อนข้างยาว |
ลักษณะเนื้อ | เนื้อมีลักษณะเป็นเส้น เนื้อสีเหลืองปานกลาง |
ลักษณะเมล็ด | เมล็ดขนาดเล็ก ลีบ |
น้ำหนัก | 3-5 กิโลกรัมต่อผล |
ทุเรียนกระดุมทอง
ต้นกำเนิดของพันธุ์กระดุมทองค้นพบอยู่สองที่คือจังหวัดนนทบุรี และ จังหวัดจันทบุรี มีรสชาติหวานมันเป็นเอกลักษณ์ มีกลิ่นหอมอ่อนๆคล้ายหมอนทอง ผลมีลักษณะกลมค่อนข้างเล็ก หนามที่ลักษณะถี่ นูน ปลายแหลม กลิ่นหอมอ่อนๆไม่ชุน กลิ่นคล้ายๆกับหมอนทอง
จุดเด่นของทุเรียนกระดุมทอง
- ก้านมีขนาดสั้น
- ผลจะมีลักษณะกลม และลูกค่อนข้างเล็ก
- เนื้อละเอียด รสชาติหวานมัน
สเปคสินค้าของทุเรียนกระดุมทอง
ต้นกำเนิด | จังหวัดจันทรบุรี นนทบุรี |
---|---|
พันธุ์ | กระดุมทอง |
เอกลักษณ์ | เนื้อมีสีเหลืองเข้ม |
ลักษณะเนื้อ | เนื้อมีลักษณะแห้ง เหนียวนิดๆ เส้นใยน้อย เนื้อบาง |
ลักษณะเมล็ด | เมล็ดใหญ่ |
น้ำหนัก | 1 กิโลกรัมต่อผล |
ทุเรียนหลง-หลิน ลับแล
ต้นกำเนิดของพันธุ์หลง-หลิน ลับแลอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ลักษณะจะค่อนข้างไปทางทรงกลม หนามผลมีลักษณะคล้ายทรงพีระมิด หนามโค้ง แหลมคม ร่องพูจะไม่ชัดเจน ผลเนื้อข้างในจะมีสีค่อนข้างเหลือง เนื้อเหนียวเนียนละเอียด เมล็ดเล็ก กลิ่นหอมอ่อนๆคล้ายดอกไม้
จุดเด่นของทุเรียนหลง-หลิน ลับแล
- ก้านมีขนาดสั้น
- เมล็ดลีบ เล็ก
- ผลจะมีลักษณะค่อนข้างกลม คล้ายทรงพีระมิด
- เนื้อละเอียด
สเปคสินค้าของทุเรียนหลง-หลิน ลับแล
ต้นกำเนิด | จังหวัดอุตรดิตถ์ |
---|---|
พันธุ์ | หลง-หลิน ลับแล |
เอกลักษณ์ | เนื้อมีสีเหลืองค่อนข้างจัด |
ลักษณะเนื้อ | เนื้อมีลักษณะละเอียด รสชาติหวานมัน กลิ่นอ่อน |
ลักษณะเมล็ด | เมล็ดลีบ |
น้ำหนัก | 1-3 กิโลกรัมต่อผล |
ทุเรียนภูเขาไฟ
ต้นกำเนิดของพันธุ์ภูเขาไฟ ถือกำเนิดมาจากกรนำทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรีมาปลูกในพื้นที่ที่เป็นภูเขาไฟในจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ภูเขาไฟได้มอดดับไปนานามากแล้ว อีกทั้งพื้นดินแถบนี้ มีความอุดมสมบูรณ์ มีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของไม้พันธุ์จึงทำให้ทุเรียนที่ได้มีคุณภาพดี
จุดเด่นของทุเรียนภูเขาไฟ
- เป็นสินค้า GI หรือการขึ้นทะเบียนบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
- ปลูกในพื้นที่ภูเขาไฟ
- ผลจะมีลักษณะค่อนข้างใหญ่คล้ายหมอนทอง
- พูเด่นชัด เนื้อละเอียด
สเปคสินค้าของทุเรียนภูเขาไฟ
ต้นกำเนิด | จังหวัดศรีสะเกษ |
---|---|
พันธุ์ | ภูเขาไฟ |
เอกลักษณ์ | เนื้อมีสีเหลืองสม่ำเสมอ |
ลักษณะเนื้อ | เนื้อมีลักษณะกรอบนอกนุ่มใน กลิ่นหอมปานกลาง |
ลักษณะเมล็ด | เมล็ดลีบเล็ก |
น้ำหนัก | 2-3 กิโลกรัมต่อผล |
ทุเรียนป่าละอู
ต้นกำเนิดของพันธุ์ป่าละอู อยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเดิมชาวสวนต้องการนำทุเรียนพันธุ์ก้านยาวและหมอนทอง จากจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดระยองมาทดลองปลูกในพื้นที่ป่าละอูซึ่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติที่ยังคงอุดมสมบูรณ์อย่างมาก จึงทำให้ผลผลิตที่ออกมานั้นได้ทุเรียนที่มีเอกลักษณ์ หวานน้อย รสมัน เนื้อแน่น กลิ่นไม่แรง
จุดเด่นของทุเรียนป่าละอู
- เป็นสินค้า GI หรือการขึ้นทะเบียนบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
- ปลูกในพื้นที่ป่าละอูซึ่งเป็นมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย
- ผลจะมีลักษณะเป็นวงรี เปลือกบาง
- ร่องพูชัดเจน มีขนาดใหญ่
- รสชาติโดดเด่นกว่าหมอนทองทั่วไป คือหวานมัน นุ่มลิ้น กลิ่นไม่ฉุน
สเปคสินค้าของทุเรียนป่าละอู
ต้นกำเนิด | จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ |
---|---|
พันธุ์ | ป่าละอู |
เอกลักษณ์ | เนื้อมีสีเหลืองอ่อน |
ลักษณะเนื้อ | เนื้อมีลักษณะนุ่ม หวานมัน |
ลักษณะเมล็ด | เมล็ดลีบเล็ก |
น้ำหนัก | 1.5-5 กิโลกรัมต่อผล |
ทุเรียนพวงมณี
ต้นกำเนิดของพันธุ์พวงมณี มีต้นกำเนิดที่จังหวัดจันทบุรี และระยอง อีกทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นพันธุ์ทุเรียนประจำจังหวัด ซึ่งทุเรียนพวงมณีมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ เนื้อละเอียด รสชาติหวาน ผลมีขนาดเล็กกระทัดรัด ทรงรี ปลายผลแหลม เนื้อสีเข้ม ก้านยาวปานกลาง
จุดเด่นของทุเรียนพวงมณี
- เป็นพันธุ์เล็ก ผลทรงรี สีเนื้อเข้ม
- เนื้อมีลักษณะละเอียด
- รสชาติหวาน กลิ่นหอมอ่อนๆ
สเปคสินค้าของทุเรียนพวงมณี
ต้นกำเนิด | จังหวัดจันทบุรี |
---|---|
พันธุ์ | พวงมณี |
เอกลักษณ์ | เนื้อมีสีเหลือเข้ม |
ลักษณะเนื้อ | เนื้อมีลักษณะหวาน เนื้อละเอียด ไม่มีเสี้ยน |
ลักษณะเมล็ด | เมล็ดลีบเล็ก |
น้ำหนัก | 1.5-2.5 กิโลกรัมต่อผล |
ทุเรียนนกกระจิบ
ต้นกำเนิดของพันธุ์นกกระจิบหรือเม็ดในยายปราง เป็นพันธุ์เก่าแก่ดั้งเดิมของจังหวัดนนทบุรี และได้รับความนิยมมากในสมัยก่อนเนื่องจากมีรสชาติหวานมัน เนื้อไม่แฉะ เนื้อเยอะ เนื้อมีสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม ณ ปัจจุบัน พันธุ์นกกระจิบได้ถูกนำมาปลูกในเชิงธุรกิจอีกครั้งและเพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์เก่าแก่นี้ด้วย
จุดเด่นของทุเรียนนกกระจิบ
- เป็นพันธุ์เล็ก เม็ดลีบ
- เนื้อเยอะ ไม่แฉะ
- รสชาติหวานมัน กลิ่นหอม
สเปคสินค้าของทุเรียนนกกระจิบ
ต้นกำเนิด | จังหวัดนนทบุรี |
---|---|
พันธุ์ | นกกระจิบ |
เอกลักษณ์ | เนื้อมีสีเหลืองอ่อน |
ลักษณะเนื้อ | เนื้อมีลักษณะหวานมัน ถ้าทานขณะห่ามๆเนื้อจะกรอบหวาน |
ลักษณะเมล็ด | เมล็ดลีบ |
น้ำหนัก | 1-2 กิโลกรัมต่อผล |
ทุเรียนชมพูศรี
ต้นกำเนิดของพันธุ์ชมพูศรี เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกกันแพร่หลายแทบทุกจังหวัดในประเทศไทย ต่อมาพันธุ์นี้เริ่มมีให้เห็นน้อยลง แต่ยังคงมีหลงเหลืออยู่ในจังหวัดนนทบุรี ลักษณะผลค่อนข้างกลมยาว หนามมีขนาดกลาง จะมีพูหลอกอยู่ในแต่ละลูก ก้านจะมีลักษณะยาวปานกลาง เมล็ดในจะลีบเล็ก รสชาติหวาน กลิ่นแรง เป็นพันธุ์ที่ปลูกง่ายให้ผลเร็วประมาณ 4 ปีก็จะออกผล
จุดเด่นของทุเรียนชมพูศรี
- เป็นพันธุ์พื้นเมือง ให้ผลในระยะเวลาสั้น
- เนื้อมีลักษณะเป็นเส้นค่อนข้างหยาบ
- รสชาติหวานมัน กลิ่นแรง
- เมล็ดลีบเล็ก
สเปคสินค้าของทุเรียนชมพูศรี
ต้นกำเนิด | จังหวัดนนทบุรี |
---|---|
พันธุ์ | พื้นเมือง ตระกูลชมพูศรี |
เอกลักษณ์ | เนื้อมีสีเหลืองจัด |
ลักษณะเนื้อ | เนื้อมีลักษณะหวานมัน เนื้อเป็นเส้น |
ลักษณะเมล็ด | เมล็ดลีบเล็ก |
น้ำหนัก | 1-2 กิโลกรัมต่อผล |
ทุเรียนนกหยิบ
ต้นกำเนิดของพันธุ์นกหยิบอยู่ในตระกูลทองย้อยและนิยมปลูกมากในจังหวัดนนทบุรี เป็นพันธุ์ดั้งเดิมอีกพันธุ์หนึ่งของจังหวัดนนทบุรี ผลจะมีลัษณะคล้ายกับหมอนทอง แต่รสชาติจะหวานมันกว่า เนื้อจะมีลักษณะละเอียดกว่า สีจะเหลืองเข้มกว่าหมอนทอง และกลิ่นไม่ฉุน
จุดเด่นของทุเรียนนกหยิบ
- เป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม
- เนื้อมีลักษณะละเอียด มี 5 พูต่อหนึ่งลูก
- รสชาติหวานมัน กลิ่นไม่ฉุน
- เมล็ดแบนเกือบลีบ
สเปคสินค้าของทุเรียนนกหยิบ
ต้นกำเนิด | จังหวัดนนทบุรี |
---|---|
พันธุ์ | พื้นเมือง ตระกูลทองย้อย |
เอกลักษณ์ | เนื้อมีสีเหลืองเข้ม |
ลักษณะเนื้อ | เนื้อมีลักษณะหวานมัน เนื้อละเอียด |
ลักษณะเมล็ด | เมล็ดแบนเกือบลีบ |
น้ำหนัก | – |
ทุเรียนทองย้อยฉัตร
ต้นกำเนิดของพันธุ์ทองย้อยฉัตร เป็นพันธุ์ที่มีมาแต่โบราณและอยู่ในตระกูลทองย้อย ซึ่งเริ่มต้นมีการนำมาเพาะพันธุ์ที่จังหวัดธนบุรี ต่อมาเริ่มปลูกกันมากอย่างแพร่หลายในจังหวัดนนทบุรี ทองย้อยฉัตรเป็นอีกพันธุ์ที่มีรสชาติอร่อยรสเข้มหวานมัน เนื้อหยาบ เนื้อหนา สีเหลืองเข้ม
จุดเด่นของทุเรียนทองย้อยฉัตร
- เป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมที่หายาก
- เนื้อมีลักษณะหยาบ หนา สีเหลืองเข้ม
- รสชาติหวานมัน
- กลิ่นไม่ฉุน
สเปคสินค้าของทุเรียนทองย้อยฉัตร
ต้นกำเนิด | จังหวัดนนทบุรี |
---|---|
พันธุ์ | พื้นเมือง ตระกูลทองย้อย |
เอกลักษณ์ | เนื้อมีสีเหลืองเข้ม |
ลักษณะเนื้อ | เนื้อมีลักษณะหวานมัน เนื้อละเอียด |
ลักษณะเมล็ด | เมล็ดเล็ก |
น้ำหนัก | 2 กิโลกรัมต่อผล |
ทุเรียนทับทิม
ต้นกำเนิดของพันธุ์ทับทิมเป็นพันธุ์โบราณอีกพันธุ์หนึ่งในตระกูลพันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์กลาง ไม่ทราบแน่ชัดว่าต้นกำเนิดมาจากจังหวัดไหนแต่เชื่อกันว่ามีการปลูกกันมากว่า 100 ปี ลักษณะผลจะโต อ้วนป้อม กลางร่องพูจะมีหนามขนาดใหญ่ เมื่อผลสุกจะมีสีเขียวอมเหลือง ผลหนึ่งๆจะมีประมาณ 5 พู
จุดเด่นของทุเรียนทับทิม
- เป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมที่หายากอายุกว่า 100 ปี
- เนื้อมีลักษณะสีเหลือง
- รสชาติหวานปนมัน ไม่หวานจัด
- เมล็ดเรียบ กลิ่นไม่ฉุน
สเปคสินค้าของทุเรียนทับทิม
ต้นกำเนิด | ไม่ทราบแน่ชัดว่าอยู่ในจังหวัดใด |
---|---|
พันธุ์ | พื้นเมือง หรือ พันธุ์กลาง |
เอกลักษณ์ | เนื้อมีสีเหลือง |
ลักษณะเนื้อ | เนื้อมีลักษณะหวานปนมัน |
ลักษณะเมล็ด | เมล็ดเรียบ |
น้ำหนัก | 2-3 กิโลกรัมต่อผล |
ทรงของผลทุเรียนแบ่งตามกลุ่มของกรมวิชาการเกษตร
กลุ่มกบ | จะมี 46 สายพันธุ์ ทรงของผลทุเรียนจะมีทั้งแบบ กลม รี แป้น หนามจะโค้งงอ |
---|---|
กลุ่มลวง | จะมี 12 สายพันธุ์ ทรงของผลทุเรียนจะมีแค่ 2 แบบคือ รี และ กระบอก เช่น ชะนี |
กลุ่มก้านยาว | จะมี 8 สายพันธุ์ ทรงของผลทุเรียนจะมีแบบ กลม รูปไข่ หนามจะนูน |
กลุ่มกำปั่น | จะมี 13 สายพันธุ์ ทรงของผลทุเรียนจะมีแบบแหลมตรง ขอบขนาน |
กลุ่มทองย้อย | จะมี 14 สายพันธุ์ ทรงของผลทุเรียนจะเป็นรูปไข่ หนามนูน |
กลุ่มเบ็ดเตล็ด | มีทั้งหมด 81 สายพันธุ์ และไม่สามารถบอกลักษณะได้ชัดเจน เนื่องจากอาจจะเป็นพันธุ์ที่เกิดจากการดัดแปลงทางพันธุกรรมจากการพัฒนาทางการเกษตรของประเทศไทย |
Credit: www.doa.go.th / www.duriannon.com / www.kingpandurian.com
เป็นอย่างไรบ้างค่ะ สำหรับพันธุ์ทุเรียน ต้องบอกว่าในประเทศไทยมีหลากหลายสายพันธุ์มากเท่าที่ทราบมามีมากว่า 600 สายพันธุ์ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตรของประเทศไทยได้แบ่งจำแนกออกเป็น 6 กลุ่มซึ่งแบ่งตาม “ทรงของผลทุเรียน” เป็นหลักค่ะ พันธุ์ต่างๆเหล่านี้หลายๆพันธุ์ก็ล้มหายไปจากสารระบบแต่ก็ยังมีเกษตรกรบางพื้นที่นำกลับมาปลูกใหม่เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์และเผยแพร่ในเชิงธุรกิจต่อไป เรามาดูกันนะคะว่า 6 กลุ่มที่ทางกรมวิชาการเกษตรแบ่งไว้มีอะไรกันบ้าง