FAV – FAV A GOOD TIME –

3 สิ่งที่ควรใส่ใจ เพื่อลดไตรกลีเซอไรด์

3 สิ่งที่ควรใส่ใจ เพื่อลดไตรกลีเซอไรด์

ไตรกลีเซอไรด์นับได้ว่าเป็นภัยเงียบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในระยะแรกที่ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นนั้น ร่างกายเราจะยังไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรที่ผิดปกติ จนเมื่อร่างกายเริ่มส่งสัญญาณอะไรบ้างอย่าง ซึ่งนั่นหมายความระดับไตรกลีเซอไรด์สูงเข้าขั้นวิกฤติแล้ว หากเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงทีก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่ทันก็อาจถึงขั้นเสียชีวิต แล้วทำไมเราต้องใช้ชีวิตอยู่กับคำว่า “โชคดี โชคร้าย” ถ้าในเมื่อ ณ วันนี้ เราสามารถลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง และป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคได้

ค่าไตรกลีเซอไรด์ที่ปกติ

ก่อนอื่นอยากให้ทุกคนมาทำความรู้จักกับค่าของไตรกลีเซอไรด์กันสักหน่อย ซึ่งค่าไตรกลีเซอไรด์ที่ปกติจะไม่เกิน 150 mg/dL หรือถ้าจะแยกเพศก็สามารถแยกได้ดังนี้

  • ค่าไตรกลีเซอไรด์ในผู้ชาย : 40 – 160 mg/dL
  • ค่าไตรกลีเซอไรด์ในผู้หญิง : 35 – 135 mg / dL

ค่าไตรกลีเซอไรด์ที่ผิดปกติ อันตรายอย่างไร

สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้

ค่าไตรกลีเซอไรด์ที่น้อยกว่าปกติ

อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรค ดังนี้

  • สภาวะการดูดซึมสารอาหารนั้นทำงานผิดปกติ (Malabsorption Syndrome) ทำให้มีการดูดซึมไขมันจากอาหารทำงานได้น้อยกว่าปกติ
  • เสี่ยงต่อสภาวะของต่อมไทรอยด์ที่ทำงานมากเกินปกติ

ค่าไตรกลีเซอไรด์ที่สูงกว่าปกติ

อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรค ดังนี้

  • สภาวะท่อน้ำดีอุดตัน (Biliary Obstruction)
  • โรคเบาหวาน
  • โรคเกี่ยวกับไต
  • โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ (Endocrine Disorders)
  • โรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือด
  • โรคเส้นเลือดในสมองตีบ
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • มีอาการตับโต ม้ามโต
  • ระบบประสาททำงานผิดปกติ

นอกจากนี้ในผู้ที่มีค่าไตรกลีเซอไรด์สูงนั้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายวัน อาจส่งผลให้มีอาการเกี่ยวกับลูกนัยน์ตาได้ เช่น มีผื่นสีเหลืองขึ้นหนังเปลือกตา หรือที่รอบขอบตาดำจะมีแถบสีเทาออกขาวล้อมรอบ หากพบอาการเช่นนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

3 สิ่งที่ควรใส่ใจ เพื่อลดไตรกลีเซอไรด์

แบ่งมื้ออาหารให้ถี่ขึ้น

ในแต่ละวันเราควรกระจายมื้ออาหารให้เป็นหลาย ๆ มื้อต่อวัน เช่น มื้อหลัก 3 มื้อ และมื้อว่างอีกสัก 2-3 มื้อ เพื่อที่ไม่ให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไปในแต่ละมื้อ ไม่ควรงดอาหารหรือเลี่ยงอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง เนื่องจากจะทำให้หิวมาก และเมื่อถึงมื้อถัดไปเราก็จะกินมากกว่าปกติ ที่สำคัญไม่ควรงดอาหารในมื้อเช้าเด็ดขาด เพราะร่างกายต้องการพลังงานจากมื้อนี้ไปใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งวัน

ควบคุมปริมาณอาหาร

โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทอด ฟาสต์ฟูด ลดปริมาณอาหารจำพวกแป้ง เช่น ข้าว ขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว สาคูเผือก ลดปริมาณอาหารที่มีระดับน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ขนมหวาน ไอศกรีม รวมถึงผลไม้ที่มีความหวานด้วยนะคะ เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ เป็นต้น ย้ำว่าแค่ควบคุมนะคะ

อาหารจำพวกแป้ง เน้นย้ำว่าแค่ลดนะคะไม่ใช่งด หรือตัดทิ้งเลย เพราะจะกลายเป็นส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ร่างกายจะไม่มีเรี่ยวแรง เพราะฉะนั้นร่างกายจะต้องหาพลังงานจากส่วนอื่นมาทดแทนคาร์โบไฮเดรต นั่นคือ การดึงไขมันและโปรตีนมาเผาผลาญแทน จึงส่งผลให้ร่างกายแขนขาลีบ ซูบผอม ผิวหนังเหี่ยวย่นค่ะ


มีอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดไหนบ้างไหมที่ช่วยลดน้ำหนักได้? กาแฟเป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มที่สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ดี เอ๊ะ…อะไร ยังไง ไปติดตามกันค่ะ คลิกที่นี่

คุณภาพของอาหาร

ที่ถูกต้องควรจัดปริมาณและหมวดหมู่ของอาหารได้สัดส่วนกันในแต่ละมื้อ ซึ่งที่นิยมใช้กันก็คือ 2:1:1 แปลว่า ผักและผลไม้ 2 ส่วน คาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน และโปรตีนอีก 1 ส่วน พร้อมกับดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้ได้วันละ 8 แก้วต่อวัน

เห็นไหมคะ การจะมีสุขภาพดีได้ มีระดับไตรกลีเซอไรด์ที่อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ เราสามารถเริ่มที่ตัวเราก่อน วันนี้ เดี๋ยวนี้ เพียงแค่ดูแลและใส่ใจในอาหารที่เรากินเข้าไป จัดสัดส่วนของอาหารให้ถูกต้อง จำเป็นต้องงดหรือเลิกกินแป้งแต่อย่างใด พร้อมกับออกกำลังกายควบคู่กันไป เท่านี้โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากภัยเงียบในตัวเราก็ไม่ถามหาแล้วล่ะค่ะ


ถ้าจะลดน้ำหนักให้หุ่นฟิต หุ่นเฟิร์ม ต้องหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ คลิกที่นี่ค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง amprohealth.com, thaiheartfound.org

Exit mobile version