เคยไหมคะที่เราสังเกตเห็นผง หรือชิ้นส่วนหนังศีรษะเล็ก ๆ ขาว ๆ บนศีรษะของผู้อื่นหรือแม้แต่ตัวเอง ถ้าเคย สิ่งนี้เขาเรียกว่า “รังแค (Dandruff)” รังแคเกิดจากอะไร? อาการเป็นอย่างไร? ถ้าไม่คันถือว่าเป็นรังแคหรือเปล่า? สุดท้ายแล้วเราสามารถป้องกันการเกิดรังแคได้หรือไม่? วันนี้เรามีคำตอบค่ะ
รังแค คืออะไร?
คือสะเก็ดขาวหรือขุยขาว ๆ บนหนังศีรษะ พบมากบริเวณโคนผม ตามเส้นผม ซึ่งอาจมีร่วงลงมาที่บริเวณไหล่ หรือปกเสื้อ และจะสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย หากวันนั้นคุณใส่เสื้อที่มีสีเข้ม
สาเหตุการเกิดรังแค
ด้วยธรรมชาติของผิวหนังคนเราจะมีการสร้างเซลล์ผิวและการผลัดเซลล์ผิวอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ รังแคเกิดขึ้นเนื่องจากวงจรการสร้างและการผลัดเซลล์ผิวนั้นเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วสะสมและก่อตัวเป็นแผ่นและเป็นสะเก็ด ซึ่งวงจรดังกล่าวมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดขึ้น ดังนี้
เชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea Capitis)
หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กลากบนหนังศีรษะ เกิดจากเชื้อรามีการกระจายตัวลึกลงไปยังรูขุมขนของหนังศีรษะ ส่งผลให้เกิดอาการคัน บางรายอาจมีผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ได้
โรคผิวหนังอักเสบ (Seborrheic Dermatitis)
ผิวหนังจะมีลักษณะแดง เป็นมัน และมีสะเก็ด เกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกายที่มีต่อมไขมันอยู่ รวมถึงคิ้ว รักแร้ ขาหนีบ หรือบริเวณข้างจมูก ทั้งนี้ อาการของผิวหนังอักเสบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็ก ซึ่งเราจะเรียกว่า “ภาวะผิวหนังอักเสบในเด็กทารก (Cradle Cap)”
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
เป็นโรคทางผิวหนังที่เกิดการอักเสบเรื้อรัง จะมีอาการคันและผิวหนังจะตกสะเก็ด ดูคล้ายกับรังแคแต่โรคนี้จะมีความรุนแรงมากกว่า
เชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia)
โดยปกคิแล้วเชื้อราชนิดนี้จะอาศัยอยู่บนหนังศีรษะอยู่แล้ว แต่ถ้าหากมีปริมาณมากเกินไปจะทำให้การสร้างเซลล์ผิวใหม่และการผลัดเซลล์ผิวหนังที่เร็วกว่าปกติ เป็นเหตุให้เกิดรังแคได้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวเร็วนั้น ได้แก่ ฮอร์โมน อายุ และความเครียด
ภาวะผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
ภาวะนี้มักพบได้บ่อย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การสัมผัสกับสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ ซึ่งจะทำให้ผิวหนังแดง แห้ง ตกสะเก็ด และเกิดอาการคัน
ผิวหนังอักเสบที่มาจากการแพ้
ผิวหนังอักเสบที่เป็นปฏิกิริยาที่มาจากการสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับหนังศีรษะ ได้แก่ ไดร์เป่าผม ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการจัดแต่งทรงผม เช่น สเปรย์ มูส หรือเจลแต่งผม เป็นต้น
สระผมน้อยไป จนเกิดการสะสมไขมันบนหนังศีรษะ เรียกว่า ซีบัม
การสระผมที่น้อยเกินไปจะทำให้หนังศีรษะมีการสะสมของน้ำมันบนหนังศีรษะที่เรียกกันว่า ซีบัม และเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วเป็นจำนวนมาก จึงก่อให้เกิดรังแคได้ นอกจากนี้ความเครียดและการสัมผัสกับอากาศที่หนาวเย็น หรืออากาศที่แห้งก็จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นการเกิดรังแคได้มากขึ้นอีกด้วย
หนังศีรษะแห้ง
หากคุณมีหนังศีรษะที่แห้ง รังแคก็สามารถเกิดขึ้นได้จะรังแคจะมีขนาดเล็กและมีความมันที่น้อยกว่า ซึ่งปกติแล้วอาการนี้จะไม่มีอาการคัน แดง แสบ หรืออักเสบ อาการแห้งนี้สามารถเกิดได้ที่ส่วนอื่น ๆ ของผิวได้เช่นกัน ได้แก่ แขน และขา เป็นต้น
วิธีป้องกันการเกิดรังแค
รังแคสามารถป้องกันได้ และสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้
ใช้แชมพูขจัดรังแคโดยเฉพาะ
ควรเลือกใช้แชมพูสระผมที่ขจัดรังแคโดยเฉพาะ แต่ก็ไม่ควรสระบ่อยเกินไป เพื่อให้ไม่เป็นการกระตุ้นหนังศีรษะมากเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหนังศีรษะได้ และเพื่อไม่ให้หนังศีรษะแห้งเกินไปอีกด้วย
เลี่ยงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผมและหนังศีรษะที่มีสารก่อให้เกิดการระคายเคือง
บางผลิตภัณฑ์อาจมีสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ เช่น แอลกอฮอล์ หรือสารฟอกขาว เนื่องจากส่วนผสมดังกล่าวสามารถทำให้หนังศีรษะแห้ง
สัมผัสแดดเล็กน้อยทุกวัน
จากผลงานการวิจัยพบว่า การที่เราได้สัมผัสกับแดดเล็กน้อย แต่เป็นประจำทุกวัน จะสามารถควบคุมการเกิดรังแคได้
หาวิธีกำจัดความเครียด
ลองหากิจกรรมคลายเครียดที่ตัวเองชอบ เพื่อลดความเครียดและความกังวลลง เช่น การอ่านหนังสือ การปลูกต้นไม้ การทำสมาธิ หรือการฝึกโยคะ เป็นต้น
หากสาเหตุของการเกิดรังแคไม่ได้เกิดจากโรคหรือการอักเสบเรื้อรัง แบบนี้ยังสามารถรักษาและป้องกันได้ค่ะ เพียงแค่เรารู้สาเหตุก็จะสามารถป้องกันได้อย่างถูกจุดและมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง si.mahidol.ac.th, headandshoulders.co.th