“การนอน” เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ซึ่งในแต่ละวันควรนอนให้ได้ 7-9 ชั่วโมง และควรจะหลับลึก หลับสนิท ลักษณะดังกล่าวนี้ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการนอนที่มีประสิทธิภาพ แต่ “การนอนกรน” จะทำให้คุณรู้สึกว่าแม้นอนมากเท่าไหร่ ร่างกายก็ยังไม่สดชื่นสักที จนกลายมาเป็นปัญหาเรื้อรังด้านสุขภาพอีกด้วย ส่วนใครที่มีครอบครัวแล้ว การนอนกรนนี้นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ในด้านความสัมพันธ์เลยก็ว่าได้
สาเหตุ การนอนกรน
การนอนกรน เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณคอหอยและผนังลำคอมีการหย่อนตัวขณะหลับ ทำให้ไปอุดกั้นระบบทางเดินหายใจในบางตำแหน่ง จนเกิดการสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อเนื้อเยื่อ ผนังคอหอย เพดานอ่อน โคนลิ้น ไปจนถึงลิ้นไก่ ดังนั้น เมื่อระบบทางเดินหายใจแคบลง การที่เราหายใจผ่านบริเวณดังกล่าวจึงทำให้เกิดเสียงจึงกลายเป็นการนอนกรนนั่นเอง ในบางรายหายมีอาการรุนแรง การนอนกรนอาจส่งผลให้ไม่สามารถหายใจได้ขณะหนึ่งหรือที่เรียกว่า “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ”
การนอนกรน อันตรายไหม
จะอันตรายหรือไม่ ขึ้นอยู่ “ประเภทของการนอนกรน” โดยมีอยู่ 2 ประเภท ดังนี้
การนอนกรนแบบธรรมดา
ข้อนี้ไม่อันตรายค่ะ เป็นเพียงเสียงที่อาจจะน่ารำคาญเท่านั้น การนอนกรนแบบนี้เป็นเพียงการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณคอที่หย่อนยานลงมา แต่ไม่ได้ปิดกั้นทางเดินหายใจ
การนอนกรนแบบอันตราย
ข้อนี้เป็นการนอนกรนที่เกิดการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อในช่องคอ ที่หย่อนตัวลงมาจนปิดกั้นระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเมื่อทางเดินหายใจถูกปิดกั้น อากาศจึงไม่สามารถเข้าไปได้ และจะไม่มีการสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อ เสียงกรนจึงไม่มี แต่จะอันตรายตรงที่ว่า คุณจะเข้าสู่ “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea)” นั่นเอง
เคล็ดลับการลดอาการนอนกรน
หากใครมีอาการนอนกรนที่ไม่รุนแรงมาก สามารถนำวิธีดังกล่าวนี้ไปปรับใช้ ก็สามารถช่วยได้ค่ะ
นอนให้ศีรษะสูงกว่าลำตัวเล็กน้อย
การนอนให้ศีรษะสูงกว่าลำตัวลักษณะนี้ ช่วยให้ระบบทางเดินหายใจเปิดกว้างขึ้น อากาศก็จะสามารถเข้า-ออกได้สะดวกมากยิ่งขึ้น หาหมอนมาหนุนเสริมศีรษะ ซึ่งอาจต้องใช้หมอนที่ไม่นิ่มหรือไม่แข็งมากเกินไป เพราะหากเลือกที่แข็งมากเกินไป อาจทำให้ปวดคอได้
นอนตะแคง
การนอนกรนจะเกิดได้มากที่สุดในท่านอนหงาย เนื่องจากเป็นท่าที่กล้ามเนื้อในช่วงลำคอมีการหย่อนตัวและมาปิดกั้นทางเดินหายใจ ดังนั้นการนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่งโดยหาหมอนมาหนุนหลังไว้ จะช่วยลดการนอนกรนได้
หนุนหมอนใต้คาง
หาหมอนมาหนุนไว้ใต้คาง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการนอนกรนได้ เนื่องจากหมอนจะช่วยให้ผิวหนังบริเวณคอตึงมากขึ้น เนื้อเยื่อในลำคอก็จะเกิดการสั่นสะเทือนน้อยลง การกรนจึงลดลงนั่นเอง วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่ไม่ค่อยนอนดิ้นในเวลากลางคืน
นำหมอนไว้ใต้หลัง
ข้อนี้เป็นการใช้หมอนมาหนุนที่หลังช่วงใต้ท้อง แบบนี้ก็จะช่วยให้ระบบทางเดินหายใจเปิดกว้างขึ้น อากาศเดินทางเข้า-ออกสะดวกขึ้น เป็นการช่วยลดการสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อบริเวณลำคอได้ ควรเลือกหมอนหนุนหลังที่ไม่นิ่มหรือแข็งมากเกินไป ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ปวดหลังได้
พักผ่อนให้เพียงพอ
เคยไหมคะเวลาที่เราเห็นใครออกกำลังมาก ๆ หรือทำงานหนักมาก ๆ แต่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เสียงกรนจากที่เคยดังอยู่แล้ว ก็จะดังมากขึ้นเป็นพิเศษ นั่นเป็นเพราะว่ากล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอ่อนแรง และล้า ไม่เว้นแม้แต่กล้ามเนื้อบริเวณคอที่ส่งผลให้เกิดการนอนกรน ดังนั้น ควรให้เวลาร่างกายได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน แบบนี้ก็จะช่วยลดอาการนอนกรนได้ค่ะ
การนอนกรนสามารถแก้ไขได้ในเบื้องต้น เริ่มจากการปรับท่านอนเพื่อเลี่ยงท่านอนที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณช่องคอหย่อนลงมา แล้วใช้หมอนหนุนเป็นอุปกรณ์เสริมไม่ว่าจะหนุนหลัง หนุนคาง หรือหนุนหลังบริเวณช่วงท้อง แต่อย่าลืมว่าควรเลือกหมอนที่ไม่นุ่มหรือแข็งมากเกินไปนะคะ เพราะอาจส่งผลให้ปวดคอ หรือปวดหลังได้ สามารถติดตามรายละเอียดและเลือกหมอนได้จาก “20 หมอนยางพารา ยี่ห้อไหนดี ฉบับละเอียดยิบ 2564”