ขนมหวานไทยอยู่คู่กับคนไทยมาช้านานในหลายยุคหลายสมัย ไม่ว่าจะเป็น ขนมชั้น ขนมต้ม ขนมกลีบลำดวน ขนมช่อม่วง ยิ่งทองหยิบ และ ฝอยทองได้ถูกค้นพบโดยท้าวทองกีบม้าในสมัยอยุธยา สตรีไทยในสมัยก่อนมักเป็นแม่บ้านแม่เรือน และส่วนมากมักจะทำขนมหวานไทยควบคู่ไปกับการทำอาหารเพื่อนำไปใส่ในสำรับที่จะรับประทานร่วมกันภายในบ้าน นอกจากนี้ขนมไทยยังถูกนำมาใช้ในพิธีมงคลสมรส อย่างขนมนพเก้าคือขนมทั้งเก้าที่เชื่อกันว่าเป็นขนมมงคลเพื่อใช้ประกอบในการทำพิธีวิวาห์มาจวบจนปัจจุบัน
และในวันนี้ดิฉันก็ได้คัดเมนูขนมหวานไทยจำนวน 7 เมนู ซึ่งเป็นสูตรของขนมไทยมาให้ทุกท่านได้ลองนำไปทำกันที่บ้านนะคะ อยากรู้ว่าทำอย่างไร มาดูกันเลยค่ะ
สารบัญ
สาคูต้น ข้าวโพดมะพร้าวอ่อน
IMG BY : facebook
สำหรับเมนูแรกที่แนะนำวันนี้คือ ‘สาคูต้น ข้าวโพดมะพร้าวอ่อน’ ของดีเมืองพัทลุง ซึ่ง ‘สาคูต้น’ แตกต่างจากสาคูธรรมดาตรงที่เป็นต้นสาคูแก่จัด เมื่อนำมาขูดเนื้อในเพื่อทำแป้ง ตัวสาคูจะมีความใส เนื้อสัมผัสเนียนเหนียวนุ่ม ไม่คืนตัว และยังมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวอีกด้วยค่ะ
ส่วนประกอบของ สาคูต้น ข้าวโพดมะพร้าวอ่อน
ข้าวโพด | 250 กรัม |
---|---|
เนื้อมะพร้าว | ตามชอบ |
ใบเตย | 3 ใบ |
สาคูต้น | 250 กรัม |
น้ำตาลทราย | 400 กรัม |
กระทิ | 500 มิลลิลิตร |
วิธีทำสาคูต้น ข้าวโพดมะพร้าวอ่อน
- เริ่มจากตั้งน้ำในหม้อต้มให้เดือดแล้วใส่ข้าวโพดลงไปต้มจนสุก จากนั้นตักพักไว้
- ถัดไปตั้งน้ำให้เดือดในหม้ออีกใบ นำใบเตยใส่ลงไปในหม้อ ต้มให้เดือด แล้วตัดใบเตยออก จากนั้นนำสาคูต้นลงไป ต้มและคนแบบไวๆ ไปเรื่อย ๆ จนสาคูเริ่มข้นและเหนียว
- เติมน้ำตาลทรายลงไป คนให้น้ำตาลให้ละลายเข้ากัน จากนั้นใส่เนื้อข้าวโพดที่ต้มพักไว้ลงไป คนให้เข้ากัน ตามด้วยเนื้อมะพร้าวที่เราขูดไว้
- ตั้งกะทิในหม้อ ใส่ใบเตยลงไปต้มให้เดือด จากนั้นตักใบเตยออก
- ตักสาคูต้นใส่ชาม ด้านบนราดด้วยน้ำกะทิใบเตยที่ต้มไว้ พร้อมเสิร์ฟแล้วค่ะ
ครองแครงอัญชันน้ำกะทิ
IMG BY : bakery-lover
เรียกได้ว่าพลาดไม่ได้เลยกับ ‘ครองแครงอัญชันน้ำกะทิ’ ขนมไทยที่อร่อยจนเคี้ยวเพลิน ตัวครองแครงจะเหนียวๆนุ่มๆ อยู่ในน้ำกะทิหอมหวาน แถมยังเพิ่มสีสันให้กับตัวครองแครงด้วยอัญชันที่เป็นวัตถุดิบส่วนผสมในครั้งนี้
รูปภาพจาก https://www.pinterest.com/pin/697143217289414079/
ส่วนประกอบของครองแครงอัญชันน้ำกะทิ
แป้งมัน | 2 ถ้วยตวง |
---|---|
แป้งข้าวเจ้า | 1 ถ้วยตวง |
น้ำเปล่า | 1½ ถ้วยตวง |
ดอกอัญชันสด | 20 ดอก |
กะทิอบควันเทียน | 1 ลิตร |
น้ำตาลทราย | 1¼ ถ้วยตวง |
เกลือ | 1 ช้อนชา |
งาขาวคั่ว | สำหรับโรยหน้า |
วิธีทำของครองแครงอัญชันน้ำกะทิ
- เริ่มต้นด้วยการผสมแป้งมันกับแป้งข้าวเจ้าให้เข้ากัน จากนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน
- ต้มดอกอัญชัน จนออกสีน้ำเงินเข้ม แล้วกรองเอาแต่น้ำ จากนั้นแบ่งออกเป็น 2 ถ้วย ถ้วยแรก ⅔ ส่วน และถ้วยที่สอง ⅓ ส่วน แล้วผสมน้ำร้อน ⅓ ถ้วยลงไปในถ้วยที่สอง เพื่อให้ได้สีที่อ่อนกว่าเดิม
- เทน้ำต้มดอกอัญชันถ้วยแรก (สีเข้ม) ลงในถ้วยแป้งที่ได้แบ่งไว้ เอาไม้พายตะล่อมเร็ว ๆ ให้เข้ากัน แล้วค่อยนวดด้วยมือให้เข้ากัน
- ทำถ้วยที่สองแบบเดียวกัน แต่ใช้น้ำดอกอัญชันสีอ่อน
- ถัดจากนั้นนำแป้งที่นวดเตรียมไว้ มาแบ่งเป็นก้อนเล็ก ๆ ประมาณหัวนิ้วก้อย แล้วนำไปกดลงพิมพ์ครองแครง กดรูดไปด้านหน้า จะทำให้เกิดลายขึ้น
- นำตัวครองแครงที่ทำไว้ลงต้มในน้ำเดือด เมื่อสุกแล้วครองแครงจะลอยขึ้น ให้ตักแล้วนำลงแช่ในน้ำเย็น เพื่อไม่ให้แป้งเกาะตัวติดกัน
- ตั้งหม้อใช้ไฟกลาง ใส่กะทิ น้ำตาล และเกลือ คนให้ละลายเข้ากัน
- ตักครองแครงที่ต้มไว้ใส่ถ้วย ราดด้วยกะทิ โรยหน้าด้วยงาขาวคั่ว พร้อมรับประทาน
ทองหยิบ
IMG BY : cooking.kapook
มาดูขนมหวานไทยที่เมื่อพูดถึงแล้วขาดไม่ได้เลย นั่นคือ ทองหยิบค่ะ เรามักจะเห็นทองหยิบมีขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด ไหนมีใครทราบบ้างคะว่าใครเป็นผู้ทำขนมทองหยิบนี้ขึ้นมา…ใช่แล้วค่ะทองหยิบเกิดขึ้นจากท้าวทองกีบม้าเป็นผู้คิดค้น ดังนั้นวันนี้ดิฉันจึงอยากจะชวนออเจ้าทุกคนมาลงมือเข้าครัวกันค่ะ
ส่วนประกอบของ ทองหยิบ
ไข่เป็ด | 6 ฟอง |
---|---|
ไข่ไก่ | 6 ฟอง |
น้ำตาลทราย | 1 กิโลกรัม |
น้ำเปล่า | 1 ลิตร |
กลิ่นมะลิ | 1/2 ช้อนชา |
วิธีทำ ทองหยิบ
- เริ่มต้นด้วยการนำกระทะทองเหลืองตั้งบนเตาแก๊ส ตามด้วยการใส่น้ำตาลทรายและน้ำเปล่าลงไป จากนั้นเปิดไฟกลาง
- เมื่อน้ำตาลทรายและน้ำเปล่าละลายเข้ากันดีแล้ว ให้ใส่กลิ่นมะลิลงไป แล้วใช้ทัพพีตักแบ่งน้ำเชื่อมจากกระทะออกมาประมาณ 1 ถ้วยตวง แล้วนำมาพักไว้ทำเป็นน้ำเชื่อมเย็น
- เคี่ยวน้ำเชื่อมที่อยู่ในกระทะต่ออีกเป็นเวลา 10 นาที ให้น้ำเชื่อมข้นเป็นยางมะตูมค่ะ
- จากนั้นนำไข่เป็ดและไข่ไก่มาแยกไข่แดงออกจากไข่ขาว โดยอย่าให้มีเศษไข่ขาวติดมาด้วย
- นำไข่แดงไข่เป็ดและไข่แดงไข่ไก่ที่แยกไว้มากรองด้วยผ้าขาวบาง เพื่อไม่ให้มีเศษไข่และทำให้เนื้อไข่เนียนมากขึ้น
- นำไข่แดงที่กรองแล้วมาตีด้วยตะกร้อมือให้พอขึ้นฟูเล็กน้อย จากนั้นเตรียมนำไปหยอดลงในน้ำเชื่อม
- เมื่อน้ำเชื่อมข้นเป็นยางมะตูมแล้วให้ปิดไฟ และรอให้น้ำเชื่อมนิ่งสนิทก่อนหยอดไข่ลงไป
- หากน้ำเชื่อมนิ่งแล้วให้ใช้ช้อนหยอดไข่ที่ตีเอาไว้หยอดไข่ลงในน้ำเชื่อม โดยยกช้อนขึ้นให้ไข่ไหลเป็นสาย หยอดให้หมดในครั้งเดียว ไม่ควรหยอดซ้ำเพราะจะทำให้ไข่หนาและเป็นก้อนได้ค่ะ
- หยอดไข่ให้ได้ขนาดใหญ่หว่าเหรียญสิบเล็กน้อย และหยอดแต่ละชิ้นให้ห่างกันเพื่อไม่ให้ไข่ติดกันเป็นก้อนค่ะ
- เมื่อหยอดไข่เสร็จแล้วให้เปิดไฟอ่อน ๆ เพื่อให้ไข่สุก เมื่อไข่มีสีเข้มขึ้นให้กลับไข่อีกด้านลงไปให้โดนน้ำเชื่อม ทำจนไข่สุกทั้งสองด้านค่ะ
- ตักไข่ขึ้นจากน้ำเชื่อมร้อนแล้วไปพักในน้ำเชื่อมเย็นเพื่อให้ไข่เย็นตัวลงและไล่ความหวานจากน้ำเชื่อมร้อนออกไป ก่อนนำมาจับจีบ
- จากนั้นเมื่อแช่ในน้ำเชื่อมเย็นแล้ว ให้ใช้มือจับจีบเป็น 3 และ 5 จีบ ก่อนนำไปใส่ในถ้วยตะไล แล้วทิ้งไว้เป็นเวลา 1 ชั่วโมงเพื่อให้ไข่เซตตัว
- เมื่อไข่เซตตัวแล้วให้ใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มออกจากถ้วยตะไลและจัดลงจานนำไปรับประทานได้เลยค่ะ
ขนมตาล
IMG BY : cooking.kapook
อีกหนึ่งขนมหวานไทยยอดฮิตตลอดกาลคงจะขาด ‘ขนมตาล’ ไปไม่ได้ เพราะนอกจากเนื้อขนมจะนุ่มละมุนลิ้นแล้ว กลิ่นของขนมตาลก็หอมกรุ่นน่าลิ้มลองอีกด้วยค่ะ น่ารับประทานใช่ไหมคะ เราไปดูวิธีการทำกันเลยค่ะ
ส่วนประกอบของขนมตาล
เนื้อลูกตาลสุก | 200 กรัม |
---|---|
แป้งข้าวเจ้า | 250 กรัม |
กะทิ | 320 มิลลิลิตร |
น้ำตาลทราย | 200 กรัม |
ผงฟู | 1 ช้อนโต๊ะ |
เกลือ | 1 ช้อนชา |
มะพร้าวขูด | ตามชอบ |
วิธีทำขนมตาล
- เร่มต้นด้วยการเทกะทิใส่ชามผสม ตามด้วยน้ำตาลทราย ผสมคนให้เข้ากันจนน้ำตาลละลาย
- จากนั้นใส่เนื้อลูกตาลสุก และตีให้เข้ากัน
- ใส่แป้งข้าวเจ้าลงไป ผงฟู และเกลือ ตีวัตถุดิบทั้งหมดให้เข้ากัน จากนั้นกรองเพื่อให้เนื้อแป้งเนียนขึ้น แล้วพักแป้งไว้ 10 นาที เพื่อให้แป้งเซตตัว
- นำพิมพ์ใบตองไปนึ่ง เป็นเวลา 1 นาที ก่อนหยอดแป้ง เพื่อไม่ให้แป้งติดพิมพ์หลังจากนึ่ง
- จากนั้นหยอดแป้งลงไปจนเต็มพิมพ์ นึ่ง 20 นาที ยกออกจากเตา และพักไว้ให้เย็น
- จัดขนมตาลใส่จาน และโรยด้วยมะพร้าวที่ขูดไว้ค่ะ
ขนมชั้นอัญชัน
IMG BY : cooking.kapook
พลาดไม่ได้เลยค่ะ กับเมนูนี้ ‘ขนมชั้นอัญชัน’ นอกจากเนื้อขนมจะใช้สีธรรมชาติอย่างอัญชันแล้วแป้งขนมยังเหนียวนุ่มลิ้น แถมยังหอมกรุ่นกลิ่นมะลิอีกด้วยนะคะ ‘ขนมชั้นอัญชัน’ ยังเป็นขนมไทยสมัยโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัยและยังมีต้นตำรับดั้งเดิมมาจากชาววังเลยทีเดียว เห็นแบบนี้แล้วน่าสนใจใช่ไหมคะ เราไปเข้าครัวทำขนมชั้นโบราณกันเลยค่ะ
รูปภาพ
รูปภาพจาก Facebook Page : Mai Bakery House
ส่วนประกอบของขนมชั้นอัญชัน
หัวกะทิ | 1000 มิลลิลิตร |
---|---|
น้ำตาลทราย | 1 ถ้วย |
แป้งมันสำปะหลัง | 1 ถ้วย |
แป้งเท้ายายม่อม | 1/8 ถ้วย |
แป้งข้าวเจ้า | 1/4 ถ้วย |
กลิ่นมะลิ | ½ ช้อนชา |
น้ำดอกอัญชันเข้มข้น | 2 ช้อนโต๊ะ |
น้ำมันพืชเล็กน้อย | สำหรับทาพิมพ์และมีด |
วิธีทำขนมชั้นอัญชัน
- เริ่มต้นด้วยการร่อนแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวเจ้า และแป้งท้าวยายม่อมเข้าด้วยกัน
- จากนั้นตั้งหม้อไฟกลาง ใส่น้ำกะทิกับน้ำตาลลงไป คนให้น้ำตาลให้ละลายจนหมด แล้วยกลงจากเตา
- เทน้ำกะทิลงไปในถ้วยที่เราเตรียมแป้งไว้ โดยค่อย ๆ เทใส่ทีละน้อย แล้วนวดแป้งให้เข้ากัน ใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที เมื่อแป้งเข้ากันดีแล้วใส่กลิ่นดอกมะลิเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม
- จากนั้นเทกรองแป้งใส่ภาชนะสองใบให้เท่า ๆ กัน แล้วใส่น้ำอัญชันเข้มข้นลงไปในแป้งถ้วยที่ 1
- ตั้งลังถึงให้ร้อนจัด ทาน้ำมันที่พิมพ์แล้วจึงเทแป้งอัญชันลงไปชั้นแรกให้ได้ความหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร นำไปนึ่งไฟอ่อน 6 – 10 นาที
- เมื่อแป้งสุกหมด นำออกมาพักจนเย็นสนิท แล้วใช้มีดที่ทาน้ำมันพอเคลือบใบมีด หั่นขนมชั้นเป็นชิ้น เพื่อไม่ให้ตัวขนมติดใบมีด จัดเสิร์ฟใส่จานไว้ให้สวยงามค่ะ
ทับทิมกรอบ
IMG BY : cookpad
หนึ่งในเมนูในใจของหลายคนคงจะหนีไม่พ้น ‘ทับทิมกรอบ’ เพราะนอกจากจะแสนอร่อยแล้วยังมีความหอมหวานของน้ำกะทิ รวมไปถึงความหนึบๆ ของแห้วที่เรานำมาห่อด้วยแป้งสีชมพูสวยๆ ทำให้เคี้ยวเพลินจนหยุดไม่อยู่ แค่ได้ยินชื่อก็ชวนสงสัยแล้วว่ามีขั้นตอนการทำอย่างไร อย่ารอช้าค่ะไปเข้าครัวกันเลยดีกว่า
ส่วนประกอบของ ทับทิมกรอบ
แห้วปอกเปลือกต้มสุก | 300 กรัม |
---|---|
แป้งมันสำปะหลัง | 150 กรัม |
น้ำตาลทราย | 200 กรัม |
น้ำ | 200 มิลลิลิตร |
หัวกะทิ | 200 มิลลิลิตร |
ใบเตย | 3 ใบ |
เกลือ | ½ ช้อนชา |
สีผสมอาหารสีแดง | ½ ช้อนชา |
วิธีทำทับทิมกรอบ
- เริ่มต้นด้วยการหั่นแห้วเป็นชิ้นเต๋าขนาด 1 เซนติเมตร แล้วนำไปแช่ในน้ำเปล่าที่ผสมสีผสมอาหารสีแดงไว้ เป็นเวลา 15 นาที สีแดงที่ละลายน้ำไว้จะซึมเข้าไปในแห้ว ทำให้เปลี่ยนเป็นสีแดง
- นำแห้วที่เปลี่ยนเป็นสีแดงแล้ว ไปซับน้ำออกให้พอหมาดๆ แล้วนำไปคลุกกับแป้งมันให้ทั่วแห้ว
- ตั้งหม้อต้มน้ำให้เดือด นำแห้วที่คลุกแป้งมันแล้วมาร่อนเอาแป้งส่วนเกินออก แล้วใส่ลงไปต้มในน้ำเดือด เมื่อแป้งที่เคลือบแห้วเริ่มเปลี่ยนเป็นสีใส และตัวทับทิมกรอบลอยขึ้นมา แสดงว่าสุกแล้ว ให้ตักขึ้นลงแช่ในน้ำเย็นจัด เพื่อให้แป้งเซตตัว
- จากนั้นตั้งหม้อบนเตา ใช้ไฟกลาง ใส่หัวกะทิ และใบเตยลงไป เมื่อหัวกะทิเริ่มร้อน ใส่น้ำตาลทรายและเกลือลงไป คนให้ละลายเข้ากันดี
- ตักทับทิมกรอบใส่ชาม ราดด้วยน้ำกะทิ อาจใส่น้ำแข็งเพิ่มเติมเพื่อความเย็นสดชื่น เพียงเท่านี้ก็พร้อมเสริ์ฟแล้วค่ะ
วุ้นกะทิใบเตย
IMG BY : pstip
มาดูเมนูสุดท้ายกันบ้างดีกว่า เมนูวุ้นกะทิใบเตย เชื่อว่าเป็นของโปรดของใครหลายๆ คนค่ะ เพราะนอกจากจะมีกลิ่นหอมของใบเตยเวลาลิ้มรสแล้ว ยังมีตัววุ้นกะทิยังเป็นส่วนผสมที่ตัดกับวุ้นใบเตยอย่างลงตัวอีก เวลารับประทานจะไม่หวานเกินไปและอร่อยกำลังดี แค่คิดก็น่ากินแล้ว เรามาดูวิธีการทำกันเลยค่ะ
ส่วนประกอบของ วุ้นกะทิใบเตย
ใบเตยหั่นชิ้น | 12 ใบ |
---|---|
น้ำ | 550 มิลลิลิตร |
น้ำตาลทราย | 95 กรัม |
น้ำกะทิ | 200 กรัม |
ผงวุ้น | 5 กรัม |
เกลือ | 1/2 ช้อนชา |
ผ้าขาวบางและกระชอน | สำหรับกรองน้ำใบเตย |
วิธีทำวุ้นกะทิใบเตย
- เริ่มต้นด้วยการนำใบเตยหั่นชิ้นปั่นกับน้ำให้พอละเอียด แล้วกรองน้ำใบเตยด้วยผ้าขาวบางและกระชอนตาถี่เพื่อให้ได้น้ำใบเตยที่เข้มข้น
- นำน้ำใบเตยไปตั้งไฟ แล้วใส่ผงวุ้น คนจนผงวุ้นละลายจนหมด จึงใส่น้ำตาล คนจนน้ำตาลละลาย
- จากนั้นเทใส่พิมพ์ แล้วช้อนฟองออกเพื่อให้หน้าของวุ้นเรียบ นำวุ้นไปพักอุณหภูมิห้อง หรือตู้เย็นเพื่อให้วุ้นเซตตัว
- ต่อมาจะมาทำวุ้นกะทิ เริ่มจากตั้งหม้อไฟกลาง นำกะทิและน้ำใส่ลงไป ใส่ผงวุ้น คนจนผงวุ้นละลายหมด แล้วจึงใส่น้ำตาลและเกลือ คนจนละลาย
- จากนั้นนำไปเทใส่บนวุ้นใบเตยที่เซตตัวแล้ว ช้อนฟองออกเพื่อให้หน้าของวุ้นเรียบ นำไปพักให้เย็น
- ลงในตู้เย็นเพื่อให้วุ้นเซตตัว
- เมื่อวุ้นแข็งและเซตตัวแล้ว ให้นำมีดแซะที่ขอบเพื่อให้วุ้นหลุดจากพิมพ์ได้ง่าย เมื่อนำออกจากพิมพ์แล้วใช้ใบมีดหยักหั่นวุ้นเป็นชิ้นพร้อมจัดเสิร์ฟ เท่านี้ก็รับประทานได้แล้ว
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับเมนูขนมหวานไทยที่ดิฉันได้นำสูตรมาแจกในวันนี้แต่ละเมนูขนมไทยน่ารับประทานทั้งนั้นเลยใช่ไหมละคะ นอกจากจะมีวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในบ้านเราแล้วยังมีขั้นตอนกระบวนการทำที่ง่ายอีกด้วย เห็นแบบนี้คุณสาวๆ พลาดไม่ได้แล้วค่ะ อย่าลืมจดสูตรขนมไทยติดบ้านกันไว้ด้วยนะคะ